จริงหรือไม่ ? อาหารตกพื้น 5 วินาที เชื้อโรคยังไม่เห็น ?
ระหว่างทานอาหาร แล้วคนข้างๆ ทำหมูกระเด็นออกมานอกจาน ด้วยความเสียดายเลยเอาส้อมจิ้มเข้าปาก พร้อมกับบอกว่า “ยังไม่ถึง 5 วินาที เชื้อโรคยังไม่เห็นหรอก” ว่าแล้วก็เคี้ยวตุ้ยๆ กลืนลงคอไปหน้าตาเฉย
จริงๆ แล้วเชื้อโรคที่ว่ามันยังไม่เห็นอาหารของเราจริงหรือ? เชื้อโรคจะยังไม่ทันเกาะอาหารชิ้นนั้นขึ้นมาด้วยจริงหรือไม่? Sanook! Health หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
เชื้อโรคที่อาจพบบนโต๊ะอาหาร บนพื้น
ลองคิดเล่นๆ ว่าบนโต๊ะอาหารที่คุณทานข้าวนั้น ถูกใช้งานอะไรบ้างในแต่ละวัน ก่อนที่คุณจะมานั่งอาจมีคนที่เป็นหวัด ไอค่อกแค่กจามใส่โต๊ะอาหารขณะทานข้าว หรือพนักงานเอาผ้าขี้ริ้วที่เช็ดโต๊ะมาแล้วนับไม่ถ้วนมาเช็ดให้เราอีก โต๊ะไม้ที่เรานั่งอาจมีเชื้อราอยู่ตามซอกไม้ที่แตกหัก หรือถ้าร้ายไปกว่านั้น ตกกลางคืนโต๊ะตัวนี้อาจเป็นทางเดินพาเหรดของสัตว์อย่างหนู และแมลงสาบก็เป็นได้
ถ้าให้พูดถึงเชื้อโรคที่จะพบได้บนโต๊ะอาหาร หรือบนพื้นดิน บอกเลยว่ามีมากมายนับไม่ถ้วน และแต่ละเชื้อก็มีความรุนแรง และความน่ากลัวไม่เท่ากัน ไม่รู้ว่าเราจะไปแจ็คพ็อตเจอตัวไหนเข้า
ซาลโมเนลลา ต้นเหตุของอาการท้องเสีย
เราจะได้ว่าเรามีอาการผิดปกติจากอาหารที่ทานเข้าไปก็ต่อเมื่อเรามีอาการที่ชัดเจนอย่างท้องเสีย อุจจาระร่วง ซึ่งเจ้าเชื้อโรคที่พบกันอยู่บ่อยๆ ตามโต๊ะอาหาร หรือพื้นที่เต็มไปด้วยเศษอาหาร คือเชื้อซาลโมเนลลา เป็นเชื้อโรคที่ทำให้มนุษย์เราต้องเข้าโรงพยาบาลปีละถึง 1.4 ล้านคน
ซาลโนเนลลา พบว่าถูกปนเปื้อนอยู่ในอาหารสารพัด ทั้งไข่ดิบ เนื้อไก่ ผักสดบางชนิด และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ซาลโมเนลลาอาจปนเปื้อนมาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ขนส่ง มาจนถึงการปรุงอาหาร จนเข้าปากเราได้เลยทีเดียว
อาหารตกโต๊ะ ตกพื้นนานแค่ไหน เชื้อโรคถึงจะเกาะติดอาหารขึ้นมาด้วย ?
จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคลมสัน รัฐเซาธ์แคโรไลนา ทำการทดลองว่าอาหารตกพื้นนานเท่าใด เชื้อโรคถึงจะเกาะติดอาหารมาด้วย
ผลสรุปออกมาว่า ไม่ว่าอาหารจะตกบนพื้นที่เป็นพื้นไม้ กระเบื้อง หรือพรม เป็นเวลา 5, 30 หรือ 60 วินาที เชื้อโรคก็เกาะติดอาหารขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อย และมีปริมาณมากพอที่จะทำร้ายร่างกายของเราได้ด้วย
ดังนั้น กฎที่ว่า อาหารตกพื้นไม่เกิน 5 วินาที ยังทานได้ เชื้อโรคไม่เห็น จึงไม่ใช่เรื่องจริงแน่นอน เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะรีบตักเข้าปากภายใน 3 วินาที ก็ยังติดเชื้อโรคมาด้วยอยู่ดี เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของเรา อย่าเอาแค่ความเสียดายมาทำร้ายร่างกายของตัวเองเลยจะดีกว่าค่ะ เพราะบอกเลยว่ามันไม่คุ้มหรอก
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :งามนิจ เสริมเกียรติพงศ์ กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ภาพ : iStock
ที่มา : www.sanook.com
2,618
28-05-2018